วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เรื่องของในหลวงที่เราอยากรู้ (อ่านไปอมยิ้มไปก็ได้นะ)

เรื่อง : ความลับในหลวง ที่ชาวไทยอยากรู้

        รองราชเลขาธิการเผยความลับในหลวงที่คนไทยอยากรู้ จากพิธีเปิด
นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

        งานเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เรื่องพระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการเสวนาเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ

" เรื่องที่คนไทยอยากรู้ "

จาก ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ และนางปิยะนุช นาคคง
ผอ.พิพิธภัณฑ์ของจิ๋ว เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมี นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงวัฒนธรรม
และประชาชนกว่า 200 คนร่วมฟัง ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อเร็ว ๆ นี้

* ผู้ดำเนินการเริ่มโหมโรงที่
พระเกศาที่หลายคนสงสัยว่าทรงตัดแล้วจะนำไปไว้ที่ใด ?

- ปรากฏว่าเก็บไว้ที่ธงเฉลิมพล เพื่อมอบให้แก่ราษฎรที่ทำคุณงามความดีแก่ประเทศชาติ

* จากนั้นผู้ดำเนินรายการถามว่า
พระเจ้าอยู่หัวโปรดรายการโทรทัศน์ช่องไหน ?

- รองราชเลขาธิการตอบว่า ท่านทรงข่าวสัญญาณฝรั่งเศสของยูบีซี
ที่ทราบเพราะก่อนหน้านี้ยูบีซีเคยจะถอดรายการดังกล่าวออก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ติดต่อไปว่า

" อย่าพึ่งถอด เพราะในหลวงโปรด "

นอกจากนี้ ท่านยังรับฟังข่าวด้านอื่น ๆ ด้วย แต่โทรทัศน์เป็นเรื่องรอง
เพราะให้ความสำคัญกับวิทยุเป็นหลัก จากที่ทราบมาในหลวงเคยทรงโทรศัพท์
รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ใน กทม. ไปที่ จส. 100 ด้วย โดยใช้พระนามแฝง

* ผอ.พิพิธภัณฑ์ของจิ๋วในฐานะผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า
ท่านโปรดเสวยอะไร ?

- ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า ท่านทรงเพ้อระหว่างประชวร ว่าต้องการเสวยหูปลาฉลาม
และต้องไม่ใส่ผงชูรส เพราะท่านแพ้ แต่ก็ไม่ถึงกับขาดไม่ได้
สมัยก่อนรัฐบาลห้ามนำของดังกล่าวเข้ามา ท่านก็ไม่เสวย
จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มกรีนพีซออกมาต่อต้านว่า ปลาฉลามถูกฆ่าจำนวนมาก ท่านก็เลิกเปลี่ยนไปเสวยปลาแทน

ท่านผู้หญิงบุตรียังกล่าวว่า
ระหว่างที่ท่านทรงรักษาพลานามัย ได้ประทับที่พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เพราะราชดำเนินได้สะดวกในที่ราบ แตกต่างจากสวนจิตรลดาที่มีนกอีกาจำนวนมาก
ประกอบกับมีไข้หวัดนกระบาด นอกจากสภาพแวดล้อมดีกว่า
ยังสามารถเล่นกับสุนัขทรงเลี้ยงได้ด้วย พร้อมกับคณะแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด

* ผู้ดำเนินรายการถามต่อว่า
นอกจากคุณทองแดง และลูกๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงเลี้ยงสัตว์อื่นหรือไม่ ?

- ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า คิดว่าไม่มี แต่ก่อนท่านทรงโปรดคุณวานร ซึ่งมีนิสัยดุ
เมื่อสิ้นคุณวานร ท่านก็ไม่ได้เลี้ยงสุนัขกว่า 10 ปี จนมาพบคุณทองแดง
ทั้งนี้ หลายคนอาจหมั่นไส้ ว่าทำไมสุนัขต้องเรียกคุณ ตนอยากเรียนว่า
ของในวังมีราชาศัพท์หมด คุณที่ใช้เรียกนำหน้าสุนัขเป็นศัพท์ที่ในวังเรียกกัน

* จากนั้นผู้ดำเนินรายการก็เปิดโอกาสให้ผู้ฟังถาม

คำถามแรก คือ
พระเจ้าอยู่หัวทรงตักเตือนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร หรือไม่ ?

- ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า เนื่องจากพระบรมฯ เป็นพระโอรสองค์เดียว จึงซนมาก
เวลาที่ทำโทษท่านทรงใช้เข็มขัดเฆี่ยนบ้างในบางครั้ง
แต่เมื่อพระบรมฯ อภิเษกสมรสก็ทรงเลิกสั่งสอน พร้อมตรัสว่า
พ่อแม่จะวางมือเพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่แล้ว

* จากนั้นได้ถามต่อว่า
ในหลวงทรงเครื่องดนตรีได้กี่ประเภท ?

- ท่านผู้หญิงบุตรีกล่าวว่า ถ้าเป็นดนตรีสากลได้ทุกประเภท โดยเฉพาะแซ็กโซโฟน
เป็นเครื่องดนตรีที่โปรดเป็นพิเศษ ส่วนดนตรีไทย ตนไม่เคยเห็น แต่ถ้าเป็นพระเทพฯ แน่นอน

* ผู้ร่วมงานถามต่อว่า
จดหมายประชาชนส่งถึงในหลวงถึงมือท่านทุกฉบับหรือไม่ ?

- รองราชเลขาธิการกล่าวว่า ส่วนใหญ่ถึงมือทุกฉบับ แต่ถ้าไม่เหมาะสมก็ไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ที่มาจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสท์

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

.............................
.... ผมเคยอยู่มาแล้วหลายแผ่นดิน แต่ก็ไม่เคยเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินใด
ที่คนทั้งเมืองเขาเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ให้ความเคารพบูชาอย่างสนิทสนมอย่างทุกวันนี้
...พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อน ๆ ทรงครองแผ่นดิน
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลนี้ทรง " ครองใจคน "

                              หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช



ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

.............................
เรื่อง " เดิมพันของเรา "

ครั้งหนึ่ง เมื่อหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า

" เคยทรงเหนื่อย ทรงท้อบ้างหรือไม่ "

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบว่า

" ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้
เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง
คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ "

                               ข้อมูลจาก ไทยรัฐ ฉบับ 5 ธ.ค. 32

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

...............................

เรื่อง " ราษฎรยังอยู่ได้ "

ปีพุทธศักราช 2513 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์
ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎร ในตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง
อันเป็นแหล่งที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการรุนแรงที่สุดในภาคใต้เวลานั้น

ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่งล้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูล
ขอให้ทรงรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เสียก่อน แต่คำตอบที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้รับก็คือ

" ราษฎรเขาเสี่ยงภัยยิ่งกว่าเราหลายเท่า เพราะเขาต้องกินอยู่ที่นั่นเขายังอยู่ได้
แล้วเราจะขลาดแม้แต่จะไปเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของเขาเชียวหรือ "

                     ข้อมูลจากคำอภิปรายเรื่อง " พระบิดาประชาชน "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
และมีอีกหนึ่งพระกระแสพระราชดำรัส ที่เป็นคำตอบว่า เหตุใดจึงไม่อาจหยุดทรงงานได้

" คนเราจะอยู่สุขสบายแต่คนเดียวไม่ได้ ถ้าคนที่อยู่ล้อมรอบมีความทุกข์ยาก
ควรต้องแบ่งเบาความทุกข์ยากของเขาบ้าง ตามกำลังและความสามารถเท่าที่จะทำได้ "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

.......................................

เรื่อง " เขาเดินมาเป็นวัน ๆ "

...มีอยู่ครั้งนึง ข้าพเจ้าอายุ 18 ปี ได้ตามเสด็จ...ตอนนั้นเป็นช่วงหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทุกจังหวัดและอำเภอใหญ่ ๆ ก็เสด็จฯ ประมาณ 9 โมงเช้า เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรมาเรื่อย ๆ

ทีนี้ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า แหม นานเหลือเกิน ตอนนั้นยังไม่กางร่ม ตอนนั้นยังไม่ค่อยกลัวแดด
ไม่ใส่หมวก ก็รู้สึกแดดเปรี้ยง หนังเท้านี้รู้สึกไหม้เชียว ก็เดินเข้าไปกระซิบท่านว่า พอหรือยัง ก็โดนกริ้ว

" นี่เห็นไหมราษฎรเขาเดินมาเป็นวัน ๆ เพื่อมาดูเราแม้แต่นิดเดียว
แต่นี่เรายืนอยู่ไม่เท่าไรล่ะ ตอนนี้ทนไม่ไหวเสียแล้ว.."

                       พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ วันที่ 11 ส.ค. 2534

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง " ดอกบัวจากหัวใจ "

ที่นครพนม บนเส้นทางรับเสด็จตรงสามแยกชยางกูร - เรณูนคร
บ่ายวันที่ 13 พ.ย. 2498 อาณัติ บุนนาค หัวหน้าส่วนช่างภาพประจำพระองค์
ได้บันทึกภาพในวินาทีสำคัญ ที่กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของประเทศ

ภาพที่พูดได้มากกว่าคำพูดหนึ่งล้านคำ

วันนั้นหลังจากทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ วัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร
เสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง
กลับไปประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
ราษฎรที่รู้ข่าวก็พากันอุ้มลูก จูงหลานหอบกันมารับเสด็จที่ริมถนนอย่างเนืองแน่น

ดังเช่นครอบครัวจันท์นิตย์ ที่ลูกหลานช่วยกันนำ แม่ตุ้ม จันทนิตย์ วัย 102 ปี
ไปรอรับเสด็จ ณ จุดรับเสด็จห่างจากบ้าน 700 เมตร โดยลูกหลานได้จัดหาดอกบัวสายสีชมพู
ให้แม่เฒ่าจำนวน 3 ดอก และพาออกไปรอที่แถวหน้าสุดเพื่อให้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทที่สุด

เปลวแดดร้อนแรงตั้งแต่เช้าจนสาย เที่ยงจนบ่าย แผดเผาจนดอกบัวสายในมือเหี่ยวโรย
แต่หัวใจรักภักดีของหญิงชรายังเบิกบาน เมื่อเสด็จฯ มาถึงตรงหน้า
แม่เฒ่าได้ยกดอกบัวสายโรยราสามดอกนั้น ขึ้นจบเหนือศีรษะแสดงความจงรักภักดีอย่างสุดซึ้ง
พระเจ้าแผ่นดินทรงโน้มพระองค์อย่างต่ำที่สุด จนพระพักตร์แนบชิดกับศีรษะของแม่เฒ่า
ทรงแย้มพระสรวลอย่างเอ็นดู พระหัตถ์แตะมือกร้านคล้ำของเกษตรกรชราชาวอีสานอย่างอ่อนโยน

เป็นคำบรรยายเหมือนไม่จำเป็น สำหรับภาพที่ไม่จำเป็นต้องบรรยาย
ไม่มีใครรู้ว่าทรงกระซิบคำใดกับแม่เฒ่า แต่แน่นอนว่าแม่เฒ่าไม่มีวันลืม

เช่นเดียวกับที่ ในหลวงไม่ทรงลืมราษฎรคนสำคัญที่ทรงพบริมถนนวันนั้น
หลานและเหลนของแม่เฒ่าเล่าว่า

" หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ แล้ว ทางสำนักพระราชวัง
ได้ส่งภาพรับเสด็จของแม่เฒ่าตุ้ม พร้อมทั้งพระบรมรูปหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พระราชทานผ่านมาทางอำเภอพระธาตุพนม ให้แม่เฒ่าตุ้มไว้เป็นที่ระลึก "

พระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้นี้ อาจมีส่วนชุบชูชีวิตให้แม่เฒ่ายืนยาวขึ้นอีก ด้วยความสุขต่อมาอีกถึงสามปีเต็ม ๆ

แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ ราษฎรผู้โชคดีที่สุดคนหนึ่งในรัชกาลที่ 9 สิ้นอายุขัยอย่างสงบด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 105 ปี

ข้อมูลจาก " แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ " ภาคพิเศษโดย คุณหญิงศรีนาถ สุริยะ วารสารไทย

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง " ต่อไปจะมีน้ำ "

บทความ " น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม ทั่วเขตคามชื่นธารา "
เขียนโดย มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ธ.ค.2528

ได้เล่าให้ผู้อ่านชาวไทยได้ประจักษ์ถึงเรื่องอัศจรรย์ของ " ในหลวง " กับ " น้ำ "
ที่เกิดขึ้นในคำวันหนึ่งของเดือน ก.พ. 2528

ด้วยความทุกข์ที่เปี่ยมล้นใจอันเนื่องมาจากต้องเผชิญความแห้งแล้งอย่างหนัก
หญิงชราคนนึ่งที่มาเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จได้คลานเข้ามากอดพระบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
กราบบังคมทูลด้วยน้ำตาอาบแก้ม ขอพระราชทานน้ำ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบว่า

" ยายไม่ต้องห่วงแล้วนะ ต่อไปนี้จะมีน้ำ เราเอาน้ำมาให้ "

แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระดำเนินกลับไปยังรถพระที่นั่ง
ซึ่งจอดห่างออกไปราว 5 เมตร ปรากฎว่าท่ามกลางอากาศที่ร้อนแล้ง
จู่ ๆ ก็เกิดฝนตกลงมาเป็นครั้งแรกในรอบปี ทำให้ผู้ตามเสด็จและราษฎรในที่นั้นถึงกับงุนงงไปตาม ๆ กัน

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง " เก็บร่ม "

การเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับแดดร้อนหรือลมแรง
ราษฎรก็ไม่เคยย้อท้อที่จะอดทนรอรับเสด็จให้ถึงที่สุด แม้ฝนจะตกหนักแค่ไหน ก็ไม่มีใครยอมกลับบ้าน

ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ " พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง "
ตีพิมพ์ในหนังสือ " 72 พรรษาราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์ " ว่า

ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง
ปรากฎว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จ
ต่างเปียกปอนกันหมด แต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาจากเฮลิคอปเตอร์
นายตำรวจราชองค์รักษ์ที่ตามเสด็จ ได้เข้าไปกางร่มถวาย
ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎร
ที่มายืนตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน

" จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงพระดำเนินเยี่ยม
ข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จ โดยทรงเปียกฝน
เช่นเดียวกับข้าราชการ และราษฎรทั้งหลายที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง " สิ่งที่ทรงหวัง "

ครั้งหนึ่งขณะเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่ง ได้ขอพระราชทานสัมภาษณ์
และได้กราบบังคมทูลถามว่า

การที่เสด็จฯ เยี่ยมราษฎร และมีโครงการตามพระราชดำริเกิดขึ้นมากมายนั้น
ทรงหวังว่าจะให้คอมมิวนิสต์น้อยลงใช่หรือไม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งตอบว่า

" มิได้ทรงสนพระทัยว่าคอมมิวนิสต์จะน้อยลงหรือไม่
แต่ทรงสนพระทัยว่า ประชาชนของพระองค์ จะหิวน้อยลงหรือไม่ "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง " รักถึงเพียงนี้ " และ " จุดเทียนส่งเสด็จ "

บทความชื่อ " แผ่นดินร่มเย็นที่นราธิวาส " ตีพิมพ์ในนิตยสาร " สู่อนาคต " ฉบับพิเศษ
เนื่องในวันเฉลิมฯ ได้เล่าย้อนให้เราได้เห็นภาพความยากลำบากในการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทางภาคใต้เมื่อหลายปีก่อน

โดยเฉพาะช่วงก่อนสร้างพระราชตำหนักทักษิณราชนิเวศน์นั้น
เป็นที่รู้กันว่าจังหวัดนราธิวาสชุกชุมไปด้วยโจรร้าย โจรปล้นสะดม
และพวกโจรเรียกค่าไถ่ ถึงขนาดที่ในหลาย ๆ หมู่บ้านนั้น
แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไม่กล้าย่างกรายเข้าไป

ทว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักในทุกข์อันลึกล้ำของชาวบ้าน
ที่ทั้งทุกข์เพราะยากจน และทุกข์เพราะภัยคุกคาม จึงได้เสด็จฯ ลงไปเยี่ยมเยียน
เป็นขวัญกำลังใจให้ราษฎรของพระองค์ โดยไม่ทรงหวาดหวั่น
บางวันถึงกับเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์โดยปราศจากกำลังอารักขา
และบางหมู่บ้านตำรวจเพิ่งถูกคนร้ายแย่งปืนแล้วยิงตายก่อนเสด็จไปถึงเพียงไม่กี่ชั่วโมง

ทรงรักราษฎรถึงเพียงนี้ จึงไม่แปลกที่หญิงชราคนหนึ่งในหมู่บ้านหนึ่งของอำเภอรือเสาะจะ ..
เข้ามาเกาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวร้องไห้แล้วบอกว่า

" ไม่นึกเลยว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นคนไทยชาวพุทธ จะมารักมุสลิมได้ถึงขนาดนี้ "..

บทความเดียวกันได้เปิดเผยต่อไปอีกว่า ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอเดียวกันนั้น
โต๊ะครูได้พาพรรคพวกมายืนรอรับเสด็จแล้วพูดขึ้นว่า ..

" รายอกลับไปเถอะ ประไหมสุหรีกลับไปเถิด ประเดี๋ยวพวกโจรจะลงจากเขา... "

และเมื่อถึงเวลาเสด็จฯ กลับที่มืดสนิทอย่างน่ากลัว โต๊ะครูกับชาวบ้าน
ก็พากันมาจุดเทียนส่งเสด็จตลอดเส้นทางอันตราย
ด้วยความห่วงใยใน " รายอ " และ " ประไหมสุหรี " หรือ พระราชาพระราชินีของพวกเขาอย่างสุดซึ้ง

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

ระยะแรกราวปี พ.ศ.2498 เป็นต้นมา

คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น
จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง
ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ห้า โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว

วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน
ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครง
และไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์ ..

ขณะที่พระองค์กำลังจะขับรถผ่าน

" วันนี้ ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะ ต้องให้ในหลวงเสด็จฯก่อน แล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้.. "

พระองค์ทรงขับรถพระที่นั่ง เบี่ยงข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว

วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ
พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตามและทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า

" วันนี้ฉันเป็นในหลวง .. คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ.."

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
อีกครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่ง
ที่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลาย ออกแปลกใจในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่ว
และใช้ราชาศัพท์ได้อย่างน่าฉงน เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ จึงมีคำกราบทูลว่า

" ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า.. "

มาถึงตอนสำคัญที่ทรงพบนกในกรงที่เลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว..

พ่อลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า

" ...มีทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว
ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลย และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว "

เรื่องนี้ ดร.สุเมธเล่าว่าเป็นที่ต้องสะกดกลั้นหัวเราะกันทั้งคณะไม่ยกเว้นแม้ในหลวง

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

มีเรื่องนึงเคยฟังจากผู้ใหญ่เล่าเมื่อนานมาแล้ว

มีช่างไปทำฝ้าเพดานในวัง คนนึงกำลังยืนบนบันได ส่วนหัวอยู่ใต้ฝ้า
อีกคนคอยจับบันไดอยู่ด้านล่าง พอดีในหลวงเสด็จมา คนที่อยู่ข้างล่างเห็นในหลวงก็ก้มลงกราบ
คนอยู่ด้านบนไม่เห็น ก็บอกว่า

" เฮ้ยจับดี ๆ หน่อยสิ อย่าให้แกว่ง "

ในหลวงทรงจับบันไดให้ เค้าก็บอกว่า

" เออ ดี ๆ เสร็จงานนี้จะให้เป็นช่างจริง (สงสัยคงจะเพิ่งเข้ามาทำงาน ยังไม่ผ่านโปร) "

พอเสร็จก็ก้าวลง พอเห็นว่าในหลวงเป็นคนจับบันไดให้ ถึงกับเข่าอ่อน จะตกบันได
รีบลงมาก้มกราบ ในหลวงทรงตรัสกับช่างว่า

" แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้ แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เมื่อครั้งท่านพระชนม์มายุ 72 พรรษา

มีการผลิตเหรียญที่ระลึกออกมาหลายรุ่น เจ้าของกิจการนาฬิกายี่ห้อหนึ่ง
ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตนำพระบรมฉายาลักษณ์ของท่าน มาประดับที่หน้าปัดนาฬิกาเป็นรุ่นพิเศษ
ท่านทราบเรื่องแล้วตรัสกับเจ้าหน้าที่ว่า

" ไปบอกเค้านะ เราไม่ใช่มิกกี้เมาส์ "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่องการใช้ราชาศัพท์กับในหลวง ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน
เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็กแต่ไม่เคยได้ใช้ เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป
และไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน
หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่าง ๆ นานัปการ

ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ เคยเล่าให้ฟังว่า
ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้น
จนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูล จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาอย่างดีก็ตาม

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า

" ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน ฯลฯ "

เมื่อคำกราบบังคมทูล ในหลวงทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า

" เออ ดี เราชื่อเดียวกัน... "

ข่าวว่า วันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัยเพราะผู้รายงานตื่นเต้นจนจำชื่อตนเองไม่ได้

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
รอยพระบาท ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ

ปี ๒๕๒๔ พันโท วิโรจน์ ทองมิตร (ยศในขณะนั้น) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗
ได้นำกำลัง พัน.ร.๔๗๓ เข้าปฏิบัติการในเขตพื้นที่ดอยยาว ? ดอยผาหม่น ตามแผนการต่อสู้
เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จนเกิดยุทธการยึดเนิน ๑๑๘๘ บนดอยพญาพิภักดิ์
ยังผลให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ล่มสลายในที่สุด

เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาธิดามาตุ
ได้เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมทหารหาญและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการ ดอยพญาพิภักดิ์ บนสันดอยยาว อ.เทิง จ.เชียงราย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์
ที่ได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารหาญ ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละนับตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

ปัจจุบัน ? รอยพระบาท ? คู่หนึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ศาลารอยพระบาท ของกองพันทหารราบที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๑๗ ( ในพระองค์ ฯ ) ค่ายเม็งรายมหาราช เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของกำลังพลคู่กับ ? อนุสาวรีย์ผู้เสียสละ ? ตลอดไป

ที่มา :
http://www.rta.mi.th/53320u/ta-02.htm
และ http://www.tourismchiangrai.com/?p=article&ida=49

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ
........................................

พระองค์ท่านเสด็จไปที่จังหวัดสกลนคร เพื่อเยี่ยมเยียนชาวบ้าน
และพระองค์ก็ทรงตรัสถามชายคนหนึ่งที่มาเข้าเฝ้าเพราะแขนเจ็บเข้าเฝือก

ในหลวงทรงรับสั่งถามว่า " แขนเจ็บไปโดนอะไรมา "

ชายคนนั้นตอบว่า " ตกสะพาน "

แล้วในหลวงทรงรับสั่งกลับไปอีกว่า " แล้วแขนอีกข้างหนึ่งละ "

ชายคนนั้นก็ตอบกลับมาอีกว่า " แขนข้างนี้ไม่ได้ตกลงไปด้วย ตกข้างเดียว "

ในหลวงของเราก็ทรงพระสรวล

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
วันหนึ่ง พระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด
ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาท
ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่ง ได้ก้มลงกราบแทบพระบาท
แล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง
แล้วก็พูดว่า ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดว่า
ยายอย่างโน้น ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมายแต่ในหลวงก็ทรง เฉย ๆ
มิได้ตรัสรับสั่งตอบว่ากระไร
แต่พวกข้าราชบริภาร ก็มองหน้ากันใหญ่
กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤหัยหรือไม่
แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบกับ หญิงชราคนนั้น
ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวเพราะ พระองค์ทรงตรัสว่า

" เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่ ทางภาคใต้
คือจังหวัดนราธิวาส ทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดิน เป็นกรด มีความเค็ม
พระองค์จึงทรงรับสั่งถามกับชาวบ้าน ที่มาเฝ้ารับเสด็จว่า

" ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร เค็มไหม "

ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างง ก่อนตอบกลับมาว่า

" ไม่เคยชิมซักที "

ในหลวงก็รับทรงสั่งกับข้าราชบริภารที่ ตามเสด็จว่า

" ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
ครั้งหนึ่งหลาย ๆ ปีมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรนิดหน่อยเกี่ยวกับพระฉวี
มีพระอาการคัน มีหมอโรคผิวหนังคณะหนึ่งไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายการรักษา
คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนัง แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญทางราชาศัพท์
ก็กราบบังคมทูลว่า

" เอ้อ - ทรง... อ้า - ทรงพระคันมานานแล้วหรือยังพะยะค่ะ "

พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระสรวล ตรัสว่า

" ฉันไม่ใช่ผู้หญิงนี่ จะท้องได้ยังไง "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
อีกครั้งหนึ่ง หลายปีมาก ๆ แล้วเหมือนกัน ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระโอสถมวน (สูบบุหรี่) อยู่
คราวหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวกำลังจะทรงพระโอสถมวน ยังไม่ได้ทรงจุด

ท่านผู้หนึ่งที่เผอิญได้เข้าเฝ้าอยู่ในขณะนั้น จะเป็นใครผมก็ไม่ทราบลืมไปแล้ว
ก็ปราดเข้าไปคุกเข่า จุดไฟแช็คถวาย แถมกราบบังคมทูลเสียด้วยว่า

" ถวายพระเพลิง พะยะค่ะ "

พระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลเสียงดัง ตรัสด้วยพระอารมณ์สนุกว่า

" ยัง ฉันยังไม่ตาย.... "

ผู้ใหญ่ที่มาเล่าเรื่องนี้ต่อให้ผมฟังไม่ได้เล่าว่าตอนนี้สีหน้าผู้ที่จะ
" ถวายพระเพลิง " เป็นอย่างไร

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง : เชื้อโรคตายหมด

หม่อมเจ้าภัศเดช รัชนี
ผู้อำนวยการโครงการหลวง

.....เหตุการณ์ในปี ๒๕๑๓ ที่ควรจะนำมากล่าว เพราะมีผลต่อจิตใจของชาวเขา
และควรที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ทราบเพื่อพยายามเดินตาม " เบื้องยุคลบาท "

วันนั้นเสด็จฯ ไปหมู่บ้านดอยจอมหด พร้าว เชียงใหม่ ผู้ใหญ่บ้านลีซอกราบทูลชวนให้
" ไปแอ่วบ้านเฮา " ก็เสด็จฯ ตามเขาเข้าไปบ้านซึ่งทำด้วยไม้ไผ่และมุงหญ้าแห้ง
เขาเอาที่นอนมาปูสำหรับประทับ แล้วรินเหล้าทำเองใส่ถ้วยที่ไม่ค่อยจะได้ล้างจนมีคราบดำ ๆ จับ
ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วง เพราะตามปกติไม่ทรงใช้ถ้วยมีคราบ (ผิดกับผู้เขียน)
จึงกระซิบทูลว่าควรจะทรงทำท่าเสวย แล้วส่งถ้วยมาพระราชทานผู้เขียนจัดการ
แต่ก็ทรงดวดเอง กร้อบเดียวเกลี้ยง ตอนหลังรับสั่งว่า

" ไม่เป็นไร แอลกอฮอล์เข้มข้นเชื้อโรคตายหมด "

ที่มา : หนังสือ " พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโครงการหลวง " โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เคยมีคนเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งพ่อหลวงทรงเสด็จไปทีตลาดสด
ทรงแวะไปเสวยก๋วยเตี๋ยว แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว เห็นก็สงสัย จึงทูลถามท่านว่า

" ทำไมหน้า เหมือนในหลวงจัง ? "

ท่านไม่ตอบอะไรได้แต่ยิ้ม ๆ ทรงจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยวแล้วตรัสชมว่า

" ก๋วยเตี๋ยวอร่อย "

ส่วนแม่ค้ามารู้ที่หลังว่าเป็นท่านก็ได้แต่ปลื้ม

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่งค่ะ เกิดขึ้นที่ อ.พร้าว บ้านดิฉันเอง พระองค์ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎรเผ่าลีซอ
พอจะเสด็จกลับ ผู้เฒ่าคนหนึ่งยื่นถุงห่อข้าวให้ท่าน เกรงว่าท่านจะหิวขณะเดินทาง
เป็นน้ำพริกตาแดง กับข้าวเหนียวหนึ่งห่อ พร้อมกับบอกในหลวงว่า

" หมู่บ้านเฮามันไกล กว่าเฮาจะเดินเข้าเมืองได้ใช้เวลาหลายวัน กลัวว่าท่านจะหิวกลางทาง "

ปลื้มไหมคะ เรื่องนี้พ่อเล่าให้ฟัง แต่พ่อไม่ได้เป็นลีซอนะคะ เป็นเพื่อนเฉย ๆ ค่ะ

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เช้าวันหนึ่ง เวลาประมาณ 7 โมงเช้า นางสนองพระโอษฐ์ ของฟ้าหญิงองค์เล็ก
ได้รับโทรศัพท์เป็นเสียงผู้ชาย ขอพูดสายกับฟ้าหญิง ทางนางสนองพระโอษฐ์ ก็สอบถามว่า ใครจะพูดสายด้วย
ก้อมีเสียงตอบกลับมาว่า คนที่แบงค์

นางสนองพระโอษฐ์ก้อ งง ...งง ว่าคนที่แบงค์ทำไมโทรมาแต่เช้า แบงค์ก้อยังไม่เปิดนี่หว่า
พอฟ้าหญิงรับโทรศัพท์แล้วถึงได้รู้ว่า คนที่แบงค์น่ะ ที่แบงค์จริง ๆ นะ
ไม่เชื่อเปิดกระเป๋าตังค์ แล้วหยิบแบงค์มาดูสิ อิ อิ ขนลุกเลย

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่องนี้รุ่นพี่ที่จุฬาฯเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ปีนึงที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร
อธิการบดีอ่านรายชื่อบัณฑิตแล้ว บังเอิญว่ามีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้อ่านขาดตอน
ก็ต้องรีบหาว่า อ่านรายชื่อไปถึงไหนแล้ว ปรากฏว่าในหลวงท่านทรงจำได้
ท่านเลยตรัสกับอธิการไปว่า

เมื่อกี้นี้ ชื่อ.... เค้ารับไปแล้ว

และมีอีกปีนึงขณะที่พระราชทานปริญญาบัตรอยู่ดี ๆ ไฟดับไปชั่วขณะ
ทำให้บัณฑิตคนหนึ่งพลาดโอกาสครั้งสำคัญในการถ่ายรูป
พอในหลวงทรงพระราชทานปริญญาบัตรเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะให้พระบรมราโชวาท
ท่านทรงให้อธิการบดีเรียกบัณฑิตคนนั้นมารับพระราชทานอีกครั้ง
เพื่อจะได้มีรูปไว้เป็นที่ระลึก ตื้นตันกันถ้วนทั่วทั้งหอประชุม

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง : พับเพียบ

รองศาสตราจารย์ ดร.สุธี อักษรกิตติ์
ผู้สนองพระราชดำริ ในโครงการระบบสื่อสารสายอากาศ และอิเล็กทรอนิกส์

... ในครั้งแรก ผมทำงานตามพระราชดำริ โดยไม่ทราบว่าเป็นงานของพระองค์
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคนบอกว่าให้เข้าไปในวังด้วยกันและให้นำระบบสายอากาศชนิดใหม่ขึ้นไปติดตั้ง
ก็ไม่ได้คิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มา แต่ว่าแปลกใจทำไมอยู่ดี ๆ
เจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ อย่บนดาดฟ้าของพระตำหนักถึงปีนลงมา
ทั้ง ๆ ที่งานยังไม่เสร็จ แท้ที่จริงพระองค์ท่านเสด็จฯ มายืนอยู่ข้างหลัง

ผมเหลียวหลังไปมองนิดหนึ่ง ครั้นพอเห็นพระองค์ท่านก็ตกใจ เป็นอาการวูบ ขึ้นมาทันที
นึกอยู่ในใจว่าใช่แล้ว ใช่แน่ ๆ เพราะคิดว่าเหมือนในรูป ผมก็รีบทำความเคารพ
แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกสิ่งที่ผมจำได้คือเราต้องอยู่ต่ำกว่า จึงรีบคุกเข่าให้ต่ำลงมาเป็นเหมือนชันเข่า
เพราะว่าตอนนั้นพระองค์ท่าน ประทับยืนอยู่ ถ้านั่งพับเพียบเลยก็จะต่ำเกินไป
เพราะว่าผมต้องพูดอธิบายด้วยปรากฎว่าพระองค์ท่านก็คุกเข่าลงไปด้วย
ผมก็เลยนั่งพับเพียบให้ต่ำลงไปอีก พระองค์ท่านก็ประทับพับเพียบเหมือนกัน
เลยกลายเป็นว่าวันนั้น นั่งพับเพียบสนทนากัน ๒ - ๓ ชั่วโมง
บนดาดฟ้าพระตำหนักในเวลาช่วง บ่ายที่ร้อนเปรี้ยง .......

ที่มา : บทความ " โครงการระบบสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนองพระราชดำริ "
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนังสือ " เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสาร " คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิร

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง : น้ำลดหรือยัง

ถาวร ชนะภัย

หลายปีมาแล้วเมื่อครั้งน้ำท่วมภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้นำเครื่องโทรพิมพ์มาติดตั้งที่ห้องทรงงานใหม่ ๆ

ข้าราชสำนักท่านหนึ่งกรุณาเล่าให้ฟังว่า แม้ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เสด็จขึ้นห้องพระบรรทม
แต่ทรงคอยติดตามข่าวเรื่องอุทกภัยที่หาดใหญ่อยู่อย่างใกล้ชิดด้วย

ทรงห่วยใยราษฏรจึงทรงส่งคำถามผ่านเครื่องโทรพิมพ์ด้วยพระองค์เองถามไปทางหาดใหญ่ว่า

" น้ำลดแล้วหรือยัง " โดยที่ไม่ทราบว่าผู้ส่งคำถามมานั้นคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำตอบที่มีผ่านมาทางเครื่องโทรพิมพ์ เมื่อเวลาตีสองตีสามมีข้อความที่ตอบด้วยความไม่พอใจว่า

" ถามอะไรอยู่ได้ดึกดื่นป่านแล้ว คนเขาจะหลับจะนอน "

แต่ตอนท้ายของคำตอบก็ไม่ลืมที่จะบอกด้วยว่า

" น้ำลดแล้ว "

ที่มา : บทความเรื่อง " ในหลวงกับประชาชน " โดย ถาวร ชนะภัย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง : เสียงปริศนา

.... .ในวันเสด็จพระราชดำเนิน กลับประเทศสวิต ฯ ขณะที่ประทับรถพระที่นั่ง
ไปสู่สนามบินดอนเมืองทรงได้ยินเสียงตะโกนดัง ๆ ว่า

" ในหลวง อย่าทิ้งประชาชนนะ "

ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้น ในพระราชหฤทัยว่า

" ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้ "

เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองคไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้น เป็นพลทหาร
และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูล
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร เขาทูลว่า ตอนที่เขาร้องไปนั้น
เขารู้สึกว้าเหว่ และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จไปจากเมืองไทย
กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัวน่าสยดสยอง
เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า ..

" ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน "

พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า ..

" เรานะรึที่ร้อง ? "

" ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า "

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ ..

" นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา "

ที่มา : สมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ
       จัดทำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ
       ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2511

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง : เราจับได้แล้ว

ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ

?.ครั้งหนึ่งในงานนิทรรศการ " ก้าวไกลไทยทำ " วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2538

หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ตามศาลาการแสดงต่าง ๆ ก็มาถึงศาลาโซนี่ (อิเล็กทรอนิกส์) ภายในศาลาแต่งเป็น " พิภพใต้ทะเล "
โดยใช้เทคนิคใหม่ล่าสุด " Magic Vision " น้ำลึก 20,000 league จะมีช่วงให้แลเห็นสัตว์ทะเล
ว่ายผ่านไปมา ปลาตัวเล็ก ๆ สีสวยจะว่ายเข้ามาอยู่ตรงหน้า

ข้อสำคัญเขาเขียนป้ายไว้ว่า ถ้าใครจับปลาได้เขาจะให้เครื่องรับโทรทัศน์
พวกเราไขว่คว้าเท่าไหร่ก็จับไม่ได้ เพราะเป็นเพียงแสงเท่านั้น
แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า

" เราจับได้แล้ว " พร้อมทั้งทรงยกกล้องถ่ายรูปชูให้ผู้บรรยายดู แล้วรับสั่งต่อ " อยู่ในนี้ "

ต่อจากนั้นคงไม่ต้องเล่า เพราะเมื่ออัดรูปออกมาก็จะเป็นภาพปลาและจับต้องได้
บริษัทโซนี่จึงต้องน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องรับโทรทัศน์ตามที่ประกาศไว้?

ที่มา : หนังสือ ทำเป็นธรรม โดย ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง : ข้าวผัดไข่ดาว

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

วันหนึ่งเสด็จฯ เขาค้อเปิดอนุสาวรีย ์พอเปิดอนุสาวรีย์เสร็จ พระองค์ท่านก็ขอกลับไปที่พระตำหนัก
เพื่อจะทรงเปลี่ยนฉลองพระบาทเพราะเดี๋ยวจะไปดูงานในป่าในดง.........เราก็ไม่ได้ทานข้าวไม่มีใครทานข้าว

ตอนนั้นบ่ายสองโมงแล้วก่อนจะเปลี่ยนฉลองพระบาท สักยี่สิบนาทีน่าจะพุ้ยข้าวทัน
ก็รีบวิ่งไปห้องอาหารที่เตรียมไว้ปรากฏว่าพวกที่ไม่ได้ ตามเสด็จเขาทานกันหมดแล้ว
ในนั้นจึงเหลือข้าวผัด ติดก้นกระบะกับมีไข่ดาวทิ้งแห้งไว้ 3 - 4 ใบ

เราก็ตัก เห็นมีข้าวอยู่จานหนึ่งวางไว้มีข้าวผัดเหมือนอย่างเรา ไข่ดาวโปะใบหนึ่ง
มีน้ำปลาถ้วยหนึ่งวางอยู่ เพื่อนผม ก็จะไปหยิบมามหาดเล็กบอกว่า

" ไม่ได้ ๆ ของพระเจ้าอยู่หัว ท่านรับสั่งให้มาตัก "

ดูสิครับตักมาจากก้นกระบะเลยผมนี่น้ำตาแทบไหลเลย ท่านเสวยเหมือน ๆ กันกับเรา......

ที่มา : บทสัมภาษณ์ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล คอลัมน์ " ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท "

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

.........................................
เรื่อง : หมึกไม่ออก

ผู้ช่วยสาสตราจารย์ อนงค์รัตน์ สุขุม

??..วันที่ 14 กรกฎาคม 2526

เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่นายกสโมสรอาจารย์
จะเป็นผู้ดูแลถวายปากกาให้ทรงลงประปรมาภิไธย

แต่ในปีนั้น ดิฉันในฐานะอุปนายกสโมสรอาจารย์ได้รับหน้าที่นี้แทน
ก่อนจะเสด็จประราชดำเนิน เราก็ดูแลความเรียบร้อยทุกอย่าง อย่างระมัดระวังที่สุด
โดยเฉพาะปากกาลองกันหลายครั้งจนมั่นใจว่าไม่มีปัญหาแน่
พอเสด็จฯ มาถึงท่านก็ทรงลงประปรมาภิไธย ปรากฏว่าทรงจรดปากกาลงไปแล้วแต่ไม่มีหมึกออกมา

เราก็ตกใจมากเลยไม่รู้จะทำยังไงดี นึกในใจว่าเป็นความบกพร่องของเราแน่ ๆ ลองมากไปจนหมึกหมด
ดิฉันก็เลยถวายกระดาษทิชชูเปล่า ๆ ที่อยู่ในมือให้ท่าน เพื่อจะให้ท่านทรงเช็ดปากกา
แต่ท่านทรงพระเมตตามากเลย สีพระพักตร์ที่ท่านมองดิฉันเหมือนกับจะตรัสว่า

" ไม่ต้องตกใจ "

แล้วก็ทรงนำปากกามาลองที่มือดิฉันที่มีกระดาษทิชชู่ ปรากฏว่า หมึกออก
จากนั้นก็ทรงหันไปลงพระปรมาภิไธยในสมุด พอท่านเสด็จพระราชดำเนินไปแล้ว
ทุกคนก็รีบเข้ามาดูกระดาษที่ทรงลองปากกาแผ่นนั้นกันใหญ่ ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์
ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ บอกว่า

" พี่ ๆ ขอหน่อยเถอะพี่จะเอาไปเป็นมงคล " ก็เลยแบ่งให้อาจารย์ไปส่วนหนึ่ง?

ที่มา : สารคดีโทรทัศน์ พ่อของแผ่นดิน

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ
........................................

เรื่อง : กล้วยไข่

ผมเคยเข้าไปเล่นคอนเสิร์ตหน้าพระที่นั่งศาลาดุสิตาลัย เมื่อสิบห้าปีมาก่อน
พระเทพทรงประชวรหวัดเล็กน้อย แล้วตรัสก่อนพวกผมเล่นกันว่า

วันนี้ไม่มีเสียงกรี๊ดนะ เป็นหวัด

พอตอนเล่น ผมเลยบังอาจถวายแซวพระองค์ท่าน ว่า

ในฐานะรุ่นน้องจุฬาฯ ขอพระราชทานอนุญาต
เอ่ยพระนามพระองค์ว่า พี่น้อย ก็แล้วกัน
วันนี้ขอให้พี่น้อย หายหวัดเร็ว ๆ นะครับ

คนดูในศาลาดุสิตาลัยเงียบกริบ ผมก็ชัก หนาวสันหลังว่า
เหิมเกริมไปหรือเปล่า เพื่อนร่วมวงรีบชิงพูดต่อว่า

มหาดเล็กครับ ช่วยยิงให้ถูกคนด้วยแล้วกัน

คนเลยฮากันตึง รอดไป

มีเพลงหนึ่งชื่อ เพลงกล้วยไข่ ผมก็แปลงเนื้อว่า

แปลกใจจริง พระเทพฯ ชอบอะไร พระเทพชอบ กล้วยไข่ เพราะว่าพระองค์ทรงโปรด ลัล ลัล ลัล ลา

ตอนไปรับพระราชทานดอกไม้จากพระหัตถ์ ผมไปยกมือไหว้ท่าน
ท่านก็ตรัสย้อนผมว่า ใครเค้าไหว้กัน เค้าโค้งจ้ะ
จากนั้นท่านก็ตรัสว่า

ใครบอกฉันชอบกล้วยไข่ ฉันชอบกล้วยน้ำว้าย่ะ

ผมไม่เคยลืมสักภาพเดียวเลยครับ

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง : เกาะช้าง

เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท
อดีตตำรวจหลวง

มีครั้งหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทางทะเล
ระหว่างที่อยู่ในเรือพระที่นั่ง ทรงตรัสสอบถามนายทหารเรือที่ตามเสด็จว่า

" นั่นเกาะอะไร "

นายทหารผู้นั้นตอบ

" ขอเดชะ...เกาะนั้นมีพระนามว่า เกาะช้างพระเจ้าค่ะ "

ทรงแย้มสรวลแล้วตรัสตอบว่า

" ถ้างั้น...เกาะนี้ก้อเป็นญาติฉันนะซิ "

นายทหารท่านนั้นคงตื่นเต้นที่ทรงมีพระปฏิสันถารด้วย
บอกชื่อเกาะ ไม่ต้องว่าเกาะนั้นมี " พระนาม " ว่าอะไรหรอก
แค่บอกว่าเกาะนั้นชื่ออะไรก้อพอ ถ้าใช้ว่าเกาะ นั้นมี " พระนาม " ว่าอะไรนั้น
แสดงว่าเกาะนั้นเป็นเจ้านาย ด้วย เพราะใช้คำราชาศัพท์กับเกาะ

ที่มา : เฉลิมศักดิ์ รามโกมุท

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง : ปิดทองหลังพระ

ในคืนวันหนึ่งของปีพ.ศ. ๒๕๑๐ (ยศในขณะนั้นพันตำรวจโท)......
หลังจากได้รับพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแล้ว ในวังไกลกังวล..............

ผมจำได้ว่า คืนนั้นผู้ที่โชคดีได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระจิตรลดา
เป็นนายตำรวจ 8 นาย และนายทหารเรือ 1 นาย....
พระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาพร้อมด้วยกล่องใส่พระเครื่องในพระหัตถ์
ทรงอยู่ในฉลองพระองค์ชุดลำลอง.......ขณะที่ทรงวางพระลงบนฝ่ามือที่ผมแบรับอยู่นั้น
ผมมีความรู้สึกว่าองค์พระร้อนเหมือนเพิ่งออกจากเตา..........
ภายหลัง เมื่อมีโอกาสกราบบังคมทูลถาม จึงได้ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระเครื่ององค์นั้น
ด้วยการนำเอาวัตถุมงคลหลายชนิดผสมกัน เช่น ดินจากปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ดอกไม้ที่ประชาชนทูลเกล้าถวายในโอกาสต่าง ๆ และเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ของพระองค์เอง
เมื่อผสมกันโดยใช้กาวลาเท็กซ์เป็นตัวยึดแล้ว จึงทรงกดลงในพิมพ์
(อ.ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้แกะถวาย) โดยไม่ได้เอาเข้าเตาเผา.........

.....หลังจากที่ได้รับพระราชทานแล้ว ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทมีความว่า.......

? พระที่ให้ไปน่ะ ก่อนจะเอาไปบูชา ให้ปิดทองเสียก่อน แต่ให้ปิดเฉพาะข้างหลังพระเท่านั้น ?

........พระราชทานพระบรมราชาธิบายด้วยว่า ที่ให้ปิดทองหลังพระ
ก็เพื่อเตือนตัวเองว่า การทำความดีไม่จำเป็นต้องอวดใคร
หรือประกาศให้ใครรู้ ให้ทำหน้าที่ เพื่อหน้าที่ และถือว่า
ความสำเร็จในการทำหน้าที ่เป็นบำเหน็จรางวัลที่สมบูรณ์แล้ว.....

.....ผมเอาพระเครื่องพระราชทานไปปิดทองที่หลังพระแล้ว
ก็ซื้อกรอบใส่ หลังจากนั้นมา สมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินองค์นั้น
ก็เป็นพระเครื่องเพียงองค์เดียวที่ห้อยคอผม........

.....หลังจากที่ไปเร่ร่อนปฏิบัติหน้าที่อยู่ไกลห่างพระยุคลบาท
ผมได้มีโอกาสกลับไปเฝ้าฯ ที่วังไกลกังวลอีก.....ความรู้สึกเมื่อได้เฝ้าฯ
นอกจากจะเป็นความปีติยินดีที่ได้พระยุคลบาทอีกครั้งหนึ่งแล้ว
ก็มีความน้อยใจที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตั้งใจ ลำบาก และเผชิญอันตรายนานาชนิด
บางครั้งจนแทบเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ปรากฎว่า
กรมตำรวจมิได้ตอบแทนด้วยบำเหน็จใด ๆ ทั้งสิ้น........

......ก่อนเสด็จขึ้นคืนนั้น ผมจึงก้มลงกราบบนโต๊ะเสวย แล้วกราบบังคมทูลว่า

ใคร่ขอพระราชทานอะไรสักอย่างหนึ่ง.................

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ? จะเอาอะไร ? ?

และผมก็กราบบังคมทูลอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า

จะขอพระบรมราชานุญาต ปิดทองบนหน้าพระ ที่ได้รับพระราชทานไป

พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามเหตุผลที่ผมขอปิดทองหน้าพระ.....

........ผมกราบบังคมทูลอย่างตรงไปตรงมาว่า....

พระสมเด็จจิตรลดาหรือพระกำลังแผ่นดินนั้น นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานไปห้อยคอแล้ว
ต้องทำงานหนักและเหนื่อยเป็นที่สุด เกือบได้รับอันตรายร้ายแรงก็หลายครั้ง
มิหนำซ้ำกรมตำรวจยังไม่ให้เงินเดือนขึ้นแม้แต่บาทเดียวอีกด้วย............

พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม) ก่อนที่จะมีพระราชดำรัสตอบ
ด้วยพระสุรเสียงที่ส่อพระเมตตาและพระกรุณาว่า

ปิดทองไปข้างหลังพระเรื่อย ๆ แล้วทองจะล้นออกมาที่หน้าพระเอง.......

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง " รถติดหล่ม กับ ถนนสายนั้น "

หากย้อนกลับไปค้นหาจุดเริ่มต้นของพระราชกรณียกิจ ในด้านการพัฒนาแล้ว
ชื่อของ " ลุงรวย " และ " บ้านห้วยมงคล " คือสองชื่อที่ลืมไม่ได้

เรื่องราวของ " ลุงรวย " เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2495 หรือ มากกว่าห้าสิบปีล่วงมาแล้ว
ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กใน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

บ้านห้วยมงคลนี้อยู่ทั้ง " ใกล้และไกล " ตลาดหัวหิน
ใกล้เพราะระยะทางที่ห่างกันนั้นไม่กี่กิโลเมตร
แต่ไกลเพราะไม่มีถนน หากชาวบ้านจะขนพืชผักไปขายที่ตลาดต้องใช้เวลาเป็นวัน ๆ

ห่างไกลความเจริญถึงเพียงนี้ แต่วันหนึ่งกลับมีรถยนต์คันหนึ่งมาตกหล่ม
อยู่ที่หน้าบ้านลุงรวย เมื่อเห็นทหารตำรวจกว่าสิบนายระดมกำลังกัน
ช่วยรถคันนั้นขึ้นจากหล่ม ลุงรวยผู้รวยน้ำใจสมชื่อก็กุลีกุจอออกไปช่วย
ทั้งงัด ทั้งดัน ทั้งฉุด จนที่สุดล้อรถก็หลุดจากหล่ม

เมื่อรถขึ้นจากหล่มแล้ว ลุงรวยจึงได้รู้ว่ารถคันที่ตัวทั้งฉุดทั้งดึงนั้น
เป็นรถยนต์พระที่นั่งและคนในรถนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชินีนาถ

แม้จะตื่นเต้นตกใจที่ได้เฝ้าฯ ในหลวงอย่างไม่คาดฝัน แต่ลุงรวยก็ยังจำได้ว่าวันนั้น
" ในหลวง " มีรับสั่งถามลุงว่า หมู่บ้านนี้มีปัญหาอะไรบ้าง..

ลุงได้กราบบังคมทูลว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ไม่มีถนน
จึงนอกจากจะโชคดีได้รับพระราชทาน " เงินก้นถุง " จำนวน 36 บาท
ซึ่งลุงนำไปเก็บใส่หีบบูชาไว้เป็นสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้แล้ว

อีกไม่นานหลังจากนั้น ลุงรวยก็ได้เห็นตำรวจพลร่มกลุ่มหนึ่งเข้ามา
ช่วยกันไถดินที่บ้านห้วยมงคล และเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น ชาวบ้านก็ได้ถนนพระราชทาน

" ถนนห้วยมงคล " ที่ทำให้ชาวไร่ห้วยมงคลสามารถขนพืชผักออกมาขายที่ตลาดหัวหินได้ภายในเวลาเพียง 20 นาที

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................

เรื่อง : ตัวยึกยือ

มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ รองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
อดีตเลขาธิการ สำนักงานกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (นักบริหารระดับ 11)

...... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท
เข้าไปในป่ายางท่ามกลางฝนตกหนักโดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ตามรอยพระยุคลบาทไปไม่ห่าง เป็นระยะทางถึง ๒ กม.เศษ

.... นี่คือสิ่งที่มิใช่สามัญธรรมดาในความรู้สึก ของผู้คน และความไม่สามัญธรรมดานี้
ก็ยิ่งไม่ธรรมดามากยิ่งขึ้น เป็นทวีคูณ เนื่องเพราะบริเวณนี้คือ " ดงทาก " หรือ " รังทาก "
อันมีทากชุกชุม ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้

...กว่าจะถึงจุดหมาย คือบริเวณพื้นที่ที่จะพิจารณาสร้าง อ่างเก็บน้ำ เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้
สำหรับพื้นที่๕,๐๐๐ ไร่ใน ๓ เขตตำบล คือ เชิงคีรี มะยูง และรือเสาะ เกือบทุกคนก็โชกฝน
และโชกเลือดแม้ทูลกระหม่อมทั้งสองพระองค์ ก็มิได้รับยกเว้น

..... ค่ำวันนั้น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินกลับ พระตำหนัก ทักษิณราชนิเวศน์
อากาศปลายฤดูฝน กำลังสบายดวงดาวบนท้องฟ้า เริ่มจะปรายแสง ขบวนรถยนต์พระที่นั่ง
ได้หยุดลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุบนทางหลวงที่มืดสงัด เป็นเวลาหลายนาที
ถามไถ่ได้ความภายหลังว่า ยังมีทากหลงเหลือ กัดติดพระวรกายอยู่อีก
เมื่อรู้สึกพระองค์ จึงได้ทรงหยุดรถยนต์พระที่นั่ง และรับสั่งให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ช่วยจับทากที่ตัวเป่งด้วยพระโลหิตออกจากพระวรกาย

... ทรงเรียกการทรงงานวิบาก ที่เชิงคีรี ครั้งนี้ในภายหลังว่า " สงครามกับตัวยืกยือ ที่เชิงคีรี "

ที่มา : บทความ " ในหลวงในดงทาก " โดย มนูญ มุกข์ประดิษฐ์ หนังสือ " ประทีปแห่งแผ่นดิน "

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

........................................
เรื่อง : ทุกข์ยามดึก

พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์
ผู้อำนวยสำนักงานโครงการพระดาบส
อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข

.....การที่ได้ทรงพระกรุณารับฟัง และติดต่อทางวิทยุตำรวจเป็นประจำ ... จึงทรงทราบความลำบาก
ความเดือดร้อนของข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย ... ตำรวจประจำตู้ยามบางคนคับแค้นใจ
เกี่ยวกับปัญหาครอบครัว ปัญหาการครองชีพ เมื่อเสพสุราแล้วครองสติไม่ได้
ไม่รู้จะระบายความในใจกับใคร จึงได้พล่ามบรรยายมาทางวิทยุ บางคนหลับยามไม่พอ กดคีย์ไมโครโฟนค้าง
ทำให้มีเสียงกรนออกอากาศมาด้วย บางคนตะโกนร้องเพลงลูกทุ่ง ออกอากาศมาเป็นการแก้เหงา ก็มี..

ที่จัดได้ว่าโชคดี คือ ศูนย์ควบคุมข่ายตำรวจแห่งชาติ " ปทุมวัน " กล่าวคือ
ในยามดึกวันหนึ่ง พนักงานวิทยุคนหนึ่งได้ระบายความเดือดร้อน
เนื่องจากหิวโหยไม่สามารถ หาอาหารรับประทานได้ เพราะต้องเข้าเวร
เมื่อทรงรับฟังแล้วทรงสงสาร จึงได้รับสั่งทางวิทยุ กับผู้เขียน
ในฐานะที่เป็น ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้นโดยตรงว่า

" โปรดเกล้าฯ พระราชทานตู้เย็นเพื่อ เก็บอาหารสำรอง สำหรับเวรยามดึกให้ 1 ตู้ ...... "

ที่มา : บทความ " พระราชอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสาร " โดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์

ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ
........................................

เรื่องเล่าของในหลวง เรื่อง "นํ้าฝนในถังสักแก้ว"


วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑ ขณะที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโบราณสถานในเมืองศรีสัชนาลัยอยู่นั้น


ในหลวงทรงตรัสสอบถามคุณย่าทวด "เล็ก เปล่งเสียง" อายุวัย 90 ปี เป็นชาวบ้าน ต.สารจิต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย


ซึ่งคุณย่าทวดเล็กได้นำน้ำฝนลอยดอกมะลิ มาตั้งไว้หลายถังเผื่อหากข้าราชบริพารที่ติดตามขบวนเสด็จกระหายนํ้าจะได้ดืมนํ้ากัน
แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า พระองค์ทรงตรัสกับคุณย่าทวดเล็กว่า
"ย่าจ๋า ฉันขอดืมน้ำในถังสักแก้วได้ไหม "
คุณย่าทวดเล็กก็ทูลตอบว่า "ฉันไม่กล้าให้ในหลวงกินหรอก เพราะมันเป็นน้ำฝนและเป็นนํ้าธรรมดาด้วย"
ในหลวงก็ทรงแย้มพระสรวล (ยิ้ม) พระองค์ก็ทรงตรัสกับคุณย่าทวดเล็กว่า "ปกติฉันก็กินน้ำธรรมดาอย่างนี้นี่แหละย่า" 
จากนั้นพระองค์ทรงตักนํ้าฝนในถังเสวย และพระองค์ยังตรัสว่า 
"นํ้าฝนเย็นสดชื่นดี และยังหอมกลิ่นดอกมะลิอีกด้วย"

ภาพประกอบ
คือภาพจริงในเหตุการณ์จริง เมื่อปี ๒๕๐๑
"ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล"
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา
เป็นข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาท


 ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น